วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าสินค้า Packaging Design


บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม

หนึ่งกลยุทธ์ที่มีความสำคัญยิ่ง ที่นักธุรกิจยุคใหม่ควรให้ความสำคัญในการแข่งขันบนโลกการค้าอันดุเดือดนี้ คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์หลายรายประสบความสำเร็จในการแข่งขันทางธุรกิจ
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นกระบวนการเกี่ยวกับการออกแบบ เพื่อให้บรรจุภัณฑ์สินค้าฉีกแนวจากสินค้าคู่แข่ง ซึ่งจะสร้างความสะดุดตาประทับใจในความแตกต่างกันของสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาดอย่างสิ้นเชิง เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทำให้วิธีการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป ธุรกิจเริ่มมองเห็นความสำคัญของการออกแบบเพราะค้นพบอย่างชัดเจนว่ามีผลต่อยอดขายสินค้าเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะสัมฤทธิ์ผลตามต้องการได้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปด้วย คือการรักษาคุณภาพสินค้าให้ดีอย่างต่อเนื่อง
        เป้าหมายแรก คือ ความต้องการของลูกค้า
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยการออกแบบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การออกแบบโครงสร้างและการออกแบบกราฟฟิก โดยที่การออกแบบโครงสร้างจะเน้นคุณสมบัติของวัสดุที่ทำบรรจุภัณฑ์ ส่วนการออกแบบกราฟฟิคจะสื่อความหมายด้วยภาพวาดสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการขาย การออกแบบทั้งสองส่วนจะเกื้อหนุนไปในทางเดียวกันเพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสินค้านั้นๆ บางครั้งเราจะพบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะดุดตาบนชั้นวางขาย แต่สภาพเสียหายเนื่องจากบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไม่คำนึงถึงการออกแบบโครงสร้าง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสินค้าด้อยลงไป
        ในทางกลับกัน สินค้าและบรรจุภัณฑ์บางชนิดมีสภาพดีแต่ผู้ซื้อไม่สนใจหยิบชม เนื่องจากขาดสีสันและข้อมูลที่ผู้ซื้อสนใจ ดังนั้นการออกแบบทั้งทางด้านโครงสร้างและกราฟฟิคจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าของสินค้า และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านความคุ้มครองและส่งเสริมการขายจะต้องให้ความสำคัญในการรวบรวมข้อมูลความต้องการของลูกค้าหรือตลาดเป้าหมายเป็นลำดับแรกการเลือกตลาดเป้าหมาย
        ก่อนที่สินค้าจะถูกปล่อยเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย ผู้ผลิตควรศึกษาและวิเคราะห์โอกาสที่สินค้าจะสามารถขายได้ในตลาด โดยจะต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนและได้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเลือกพิจารราตลาดเป้าหมายจะต้องพิจารณาร่วมกับนโยบายด้านการค้าและการเมือง ประเพณี ภาษา สิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการขนส่ง และระยะทางการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่ตลาดเป้าหมาย หากงบประมาณด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขายมีจำกัด ควรเลือกตลาดเป้าหมายที่มีการแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก
        การคัดเลือกตลาดเป้าหมายจำเป็นต้องศึกษาผลิตภัณฑ์ร่วมไปกับการแข่งขันด้านการตลาดโดยที่บรรจุภัณฑ์จะเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องศึกษาร่วมไปกับผลิตภัณฑ์ด้วย ในการวิเคราะห์กฎเกณฑ์ด้านการบรรจุภัณฑ์ของตลาด ผู้ศึกษาจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลต่างๆ ด้านการค้า ประชากร ราคา ความต้องการของผู้บริโภค และกฎระเบียบต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เมื่อข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตลาด ได้ถูกรวบรวมจนครบ เราจะสามารถกำหนดการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของเราในตลาดได้การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์
        ในการวางตำแหน่งของสินค้าในตลาดจำเป็นจะต้องทราบว่า ใครเป็นผู้ขาย ขายอะไร ขายให้ใคร ผู้ผลิตต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ว่าต้องการให้ผู้บริโภคมองเห็นผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่สัมพันธ์อย่างไรกับบริษัทและผลิตภัณฑ์อื่นหรือตราอื่นๆ ของบริษัท รวมทั้งผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมดที่อยู่ในตลาดที่สนองความต้องการเดียวกัน
        การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์นอกจากจะตอบคำถามเพื่อการออกแบบด้านบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังต้องตอบคำถามให้ครอบคลุมถึงงานด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการขายได้อีกด้วย หากเราตั้งสมมติฐานในเบื้องต้นว่าตลาดเป้าหมายได้รับการคัดเลือกและได้ศึกษาและกำหนดการวางตำแหน่งของตัวผลิตภัณฑ์ในตลาดแล้วอย่างสมบูรณ์ ลำดับต่อไปเป็นการดำเนินการเลือกวัสดุที่มีโครงสร้างเหมาะสมสำหรับการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเราต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่าบรรจุภัณฑ์ต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง
       
        บรรจุภัณฑ์และวัสดุช่วยบรรจุมีความสำคัญหรือมีหน้าที่พื้นฐานที่เป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ 4 ข้อ โดยหน้าที่พื้นฐาน 3 ข้อแรกจะเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้าง ส่วนหน้าที่สุดท้ายจะโยงไปสู่การออกแบบกราฟฟิก
การบรรจุภัณฑ์ของสินค้าOTOP
        หน้าที่แรก การรองรับ บรรจุภัณฑ์จะต้องรองรับสินค้าที่มีปริมาณและน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณบรรจุสามารถบอกได้โดยปริมาตร น้ำหนัก หรือจำนวนหน่วยของผลิตภัณฑ์ มิติของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมมีความสำคัญทั้งด้านความแข็งแรงและค่าใช้จ่าย กล่าวคือ
        -บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติพอดีกับผลิตภัณฑ์และมีพื้นที่ว่างภายในบรรจุภัณฑ์น้อยที่สุดจะทนทานต่อแรกกดและแรงด้านจากการเคลื่อนย้ายได้ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีช่องว่างภายในมาก โดยที่ตัวผลิตภัณฑ์เองจะช่วยต้านแรงกดต่างๆ ที่กระทำต่อบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ที่มีช่องว่างมากตัวบรรจุภัณฑ์จะรับแรงกดทั้งหมดเพียงลำพัง
        -บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติใหญ่กว่าผลิตภัณฑ์จะสิ้นเปลืองวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ในหลายๆ ประเทศ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จะไม่ยอมรับบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ หลายประเทศมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการทำลายต่ำ จะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัยด้วย
        หน้าที่ประการต่อมาคือ ความคุ้มครองป้องกัน บรรจุภัณฑ์จะต้องคุ้มครองป้องกันสินค้าที่บรรจุอยู่ให้ปลอดภัยจากการเสื่อมสภาพ การแตกหัก ความชื้นหรือบรรยากาศ และการถูกลักขโมย
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องป้องกันสินค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์เกินความจำเป็นคือสิ่งที่ผิดพลาด เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบรรจุภัณฑ์สูงเกินความต้องการ หรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยไปสินค้าอาจเกิดความเสียหายได้ สิ่งที่ควรระลึกถึงคือ บรรจุภัณฑ์ควรมีความแข็งแรงเท่าที่สินค้าต้องการโดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
        หน้าที่ประการที่สาม คือ การเคลื่อนย้าย บรรจุภัณฑ์จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและการขนส่งขนผลิตภัณฑ์ไปถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่สมบูรณ์ สำหรับผู้ส่งออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะถูกเพิ่มเข้าไปในตัวสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
        การเคลื่อนย้ายบรรจุภัณฑ์จะครอบคลุมถึงการเคลื่อนย้ายในการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือกระบวนการเคลื่อนย้ายในการทำลายบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว และบรรจุภัณฑ์ก็ควรถูกออกแบบให้ง่ายต่อการเปิดปิดและการหิ้วถือเคลื่อนย้ายไปตลอดทั้งระบบในตลาดเป้าหมายที่อาจจะใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคน
        หน้าที่ประการสุดท้าย คือการส่งเสริมการขาย บรรจุภัณฑ์จะต้องส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ทั้งในระยะเริ่มต้นและในระยะยาว เมื่อบรรจุภัณฑ์ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมในการรองรับป้องกัน และเคลื่อนย้ายแล้ว ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนขายที่ดีสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ ภาพกราฟฟิคที่มองเห็นจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อการออกแบบกราฟฟิคอยู่บนบรรจุภัณฑ์มีความเหมาะสม ภายใต้หน้าที่ส่งเสริมการขาย บรรจุภัณฑ์ที่ดีจะต้องมีข้อมูลต่างๆ บนฉลากครบถ้วนและถูกต้องตามกฎระเบียบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและตลาดเป้าหมาย บรรจุภัณฑ์จะต้องสะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรกที่วางจำหน่ายและสร้างตราหรือยี่ห้อที่เชื่อถือได้
การบรรจุภัณฑ์ของสินค้าOTOP
       
         การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องพิจารณาถึงกรอบหน้าที่พื้นฐานทั้ง 4 ข้อ โดยขั้นตอนแรกของการออกแบบเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการออกแบบ เพราะในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมและถูกต้องจำเป็นต้องใช้ข้อมูลต่างๆ หลายสาขามาประกอบกันสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี ดังนี้
        -ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ โดยบุคคลที่รับผิดชอบในเรื่องการวางแผนด้านการบรรจุภัณฑ์จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านกายภาพ เคมี และทางกลของตัวผลิตภัณฑ์ โดยควรรู้ว่าผลิตภัณฑ์จะเสื่อมสภาพอย่างไร หรือแตกหักได้ง่าย ผลิตภัณฑ์หลายชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเมื่ออุณหภูมิและความชื้นแปรผัน ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารจะเสื่อมสภาพได้ง่ายเมื่อเกิดปฏิกิริยาเคมี เช่น ออกซิเดชัน ผลิตภัณฑ์บางชนิดจะขึ้นราหรือถูกเชื้อแบคทีเรียแล้วเกิดการเสื่อมสภาพ เป็นต้น ความรู้ด้านการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์จะช่วยให้ผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ พิจารณาเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และแข็งแรงเพียงพอต่อการป้องกันการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์
        ในบางกรณีการหีบห่อผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือขนาดของผลิตภัณฑ์เพื่อให้บรรจุได้พอดี โดยที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือขนาดจะต้องไม่ลดทอนคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ เช่น การหีบห่อเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งต้องแยกชิ้นเฟอร์นิเจอร์ก่อนการบรรจุ แต่เมื่อนำส่วนประกอบมาประกอบกันแล้ว จะต้องได้ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพเหมือนเดิมทุกประการ
        -ข้อมูลด้านการผลิต ที่จำเป็นต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ความเร็ว และปริมาณการผลิตต่อครั้ง วิธีการผลิต ลักษณะการผลิตเป็นแบบอัตโนมัติ หรือแบบใช้แรงงานคน ซึ่งการเลือกใช้เครื่องจักรในการบรรจุจะสัมพันธ์กับความเร็วของการผลิตสินค้า และสอดคล้องกับแผนผังการวางเครื่องจักรภายในโรงงาน
        -ข้อมูลกระบวนการบรรจุ ก่อนการบรรจุสินค้าด้วยเครื่องจักร ผู้ปฏิบัติงานจะต้องตรวจสอบความเหมาะสมของวัสดุที่ใช้ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ และมีขนาดตรงตามข้อกำหนดของเครื่องจักรบรรจุ นอกจากนั้นอาจต้องพิจารณากระบวนการทำงาน ดังนี้
        1.กระบวนการบรรจุด้วยเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ จำเป็นต้องตั้งความตึงของวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ให้มากกว่าการบรรจุแบบใช้แรงงานคน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์มีขนาดที่ถูกต้องต่อเนื่องตลอดการทำงาน
        2.กรณีการบรรจุหีบห่อแบบใช้แรงงานคน การเลือกแบบของบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งชนิดของวัสดุจะต้องสอดคล้องกับความสามารถในการปฏิบัติงานของคนโดยใช้ความเร็วในการบรรจุตามที่ออกแบบไว้
        3.สำหรับกรณีที่ต้องใช้เครื่องจักรบรรจุเดิมที่มีอยู่แล้ว จำเป็นต้องตรวจสอบความสามารถในการบรรจุของเครื่องจักรตลอดจนพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติด้วย
        -ข้อมูลด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์ ผู้เกี่ยวข้องกับการวางแผนด้านบรรจุภัณฑ์ ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของวัสดุบรรจุภัณฑ์หลากหลายชนิด เพื่อเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวผลิตภัณฑ์และกระบวนการบรรจุ ตลอดจนข้อจำกัดของตัววัสดุและบรรจุภัณฑ์ด้วย วัสดุที่ถูกเลือกจำเป็นต้องเหมาะสมกับตลาดเป้าหมายที่อาจต้องพิจารณากฎระเบียบเรื่องการหมุนเวียนใช้วัสดุหรือการทิ้งวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
การบรรจุภัณฑ์ของสินค้าOTOP
        นอกจากนี้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายวัสดุ ความเชื่อถือ ราคาวัสดุ และระยะเวลาการจัดส่งวัสดุ ก็เป็นข้อมูลจำเป็นที่จะกำหนดการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม อย่าลืมว่าคุณภาพของวัสดุต้องมาก่อนราคา วัสดุที่มีราคาถูกที่สุด อาจจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่อบริษัทก็ได้ ในกรณีที่การกองเก็บวัสดุต้องการสภาวะการเก็บที่แตกต่างกันไป และบริษัทไม่สามารถจัดหาสถานที่กองเก็บที่เหมาะสมได้ครบ การจำกัดปริมาณการสั่งซื้อวัสดุจะช่วยให้การบริหารการกองเก็บวัสดุมีประสิทธิภาพมากขึ้น
        -ข้อมูลด้านการขนส่งและการจัดจำหน่าย การขนส่งสินค้าทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ แต่ละแบบมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงต่างกัน ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์ย่อยๆ รวมหน่วยกันจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่บรรจุภัณฑ์รวมหน่วย เพื่อคุ้มครองสินค้าไปตลอดเส้นทางการขนส่ง ผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ควรจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายและการขนส่ง จำนวนครั้งของการขนถ่ายบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการลำเลียงบรรจุภัณฑ์ไปตลอดการขนส่ง การใช้อุปกรณ์เครื่องจักรกลในการขนถ่ายสินค้า จุดขนถ่าย จำเป็นต้องให้บรรจุภัณฑ์ขนส่งย่อยรวมกันเป็นหน่วยใหญ่ 1 หน่วยบนแท่นรองรับสินค้า และใช้อุปกรณ์ทางกลเป็นเครื่องขนย้าย ดังนั้นการพิจารณาเลือกวิธีการขนส่งจึงต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มเมื่อเทียบกับการขนย้ายด้วยแรงงานคน
        การเลือกขนาดของแท่นรองรับสินค้าในการขนย้าย ควรมีขนาดพอเหมาะกับรูปแบบการขนส่งและเครื่องจักรที่ใช้ในการขนย้าย ตลาดเป้าหมายที่อยู่ปลายทางการขนส่ง
        รูปแบบการขนส่งแต่ละแบบจำเป็นต้องมีเครื่องหมายสากลแสดงข้อกำหนดของการขนย้ายและขนส่ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง และระมัดระวังเป็นพิเศษในระหว่างการขนย้าย สำหรับกลุ่มสินค้าผักและผลไม้ สินค้าที่เน่าเปื่อยได้ และสินค้าอันตราย จำเป็นต้องมีเครื่องหมายพิเศษที่เป็นสากลระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยในการขนย้ายและขนส่งได้อย่างถูกวิธี ตลอดจนผู้นำเข้าบางคนอาจต้องการเครื่องหมายหรือข้อมูลบางอย่างอยู่บนบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือในการแยกแยะบรรจุภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการขนส่งไปจัดจำหน่ายต่อไป
        -ข้อมูลเรื่องกฎระเบียบ ผู้ออกแบบและวางแผนบรรจุภัณฑ์ ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบของตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุข้อกำหนดการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ การปนเปื้อนบนบรรจุภัณฑ์ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนฉลากบรรจุภัณฑ์ ตลาดเป้าหมายแต่ละประเทศ หรือกลุ่มประเทศมีข้อกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จะต้องศึกษาและรวบรวมไว้ให้มากที่สุด เพื่อใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ ดังกล่าว
        -ข้อมูลของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย ผู้บริโภคในตลาดมีทัศนคติที่แตกต่างกันในเรื่องของรูปร่าง จำนวน สีสัน และสัญลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ที่สามารถทำหน้าที่แทนผู้ขายได้อย่างสมบูรณ์สำหรับสินค้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้พิจารณาความแตกต่างของวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งประเทศต่างๆ จะออกแบบสื่อความหมายของรูปร่าง สีสัน และสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความเชื่อ และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

         -ข้อมูลบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและสิ่งแวดล้อมจะมีความซับซ้อนและวัดค่าผลกระทบได้ยาก การตลาดที่อิงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับออกมาในรูปแบบฉลากเขียว (Eco-labels) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์และชื่อเสียงของสินค้าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
       
        การใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยดึงดูดความสนใจและแสดงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ได้ขยายตัวมากขึ้นในประเทศต่างๆ แต่ละประเทศก็จะมีแนวคิดและระบบดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานระดับนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายๆ ประเทศได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการตลาดกับสิ่งแวดล้อม โดยเผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นกฎระเบียบข้อแนะนำ และฉลากสิ่งแวดล้อมมากกว่า 20 แบบ กระจายไปทั่วโลก
        ข้อมูลการวิเคราะห์และตรวจสอบวงจรชีวิต เป็นการวิเคราะห์และตรวจสอบวงจรชีวิต ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของกระบวนการต่างๆ ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ โดยศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบไปจนถึงระยะสิ้นสุดของการใช้บรรจุภัณฑ์ การตรวจวัดและประเมินรูปแบบของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์จะถูกวัดค่าและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดระยะทางตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
        การวางแผนเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์
       
 เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดจากการทำวิจัยเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในขั้นตอนต่อไปได้แก่
        -วัสดุบรรจุภัณฑ์ วัสดุเดี่ยวหรือวัสดุผสมที่ถูกคัดเลือกใช้ทำบรรจุภัณฑ์ควรมีความสามารถในการป้องกันสินค้าจากการเสื่อมสภาพหรือความเสียหายต่างๆ ได้ ผู้ออกแบบควรให้ความสนใจรอยเชื่อมและการปิดผนึกของบรรจุภัณฑ์เป็นพิเศษ เพราะถึงแม้จะเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติดีที่สุดมาออกแบบทำเป็นบรรจุภัณฑ์ แต่หากบรรจุภัณฑ์นั้นมีรอยรั่วหรือปิดผนึกไม่เหมาะสม บรรจุภัณฑ์นั้นก็ไม่สามารถป้องกันสินค้าจากความเสียหายได้
        -การออกแบบโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์และวัสดุ ช่วยบรรจุต้องคำนึงถึงคุณสมบัติในการป้องกันการแตกหักเสียหายของสินค้าตลอดระยะทางการขนส่งทั้งระบบ ผู้ออกแบบจำเป็นต้องรู้ข้อมูลว่าสินค้าควรจะขนย้ายในลักษณะใด และสินค้าจะได้รับแรงบีบหรือแรงกดดันอย่างไรตลอดเส้นทางการขนส่ง การใช้เครื่องหมายสากลพิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์ขนส่งจะช่วยให้การขนย้ายสินค้ากระทำอย่างถูกต้อง และลดโอกาสการลักขโมยระหว่างการขนย้าย โดยข้อมูลที่ปรากฎอาจอยู่ในรูปของรหัสสินค้าซึ่งตรงกับรหัสสินค้าในเอกสารการขนส่งเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกขโมย ตัวอย่างสินค้าที่ควรระมัดระวังได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และของมีค่าชิ้นเล็กๆ และสิ่งทอ เป็นต้น
        เครื่องหมายและข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เช่น น้ำหนัก ตลาดปลายทาง ควรพิมพ์ให้ชัดเจนและตัวอักษรถูกต้อง นอกจากนี้ เครื่องหมายและตัวอักษรไม่ควรลบเลือนง่ายเมื่อถูกความชื้นหรือเปื้อนคราบสกปรกต่างๆ ระหว่างการขนส่ง การขนส่งด้วยวิธีรวมหน่วยโดยใช้แท่นรองรับสินค้าหรือตู้คอนเทรนเนอร์ จะช่วยป้องกันความเสียหายและการลักขโมยได้
        -มิติ (ขนาด) ของบรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับตัวสินค้า โดยใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพมีของเสียน้อยที่สุด และใช้พื้นที่ในการวางเรียงซ้อนในตู้คอนเทรนเนอร์อย่างเต็มที่ กล่าวคือ บรรจุภัณฑ์ขายปลีก ควรมีขนาดพอดีกับบรรจุภัณฑ์ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ขนส่งสามารถวางเรียงซ้อนบนแท่นรองรับสินค้าได้เต็มพื้นที่
        การออกแบบต้องยึดมาตรฐานขนาดแท่นรองรับสินค้าของตลาดเป้าหมายเป็นข้อกำหนดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่งและบรรจุภัณฑ์ขายปลีก ซึ่งขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับขนาดของแท่นรองรับสินค้าจะช่วยให้การขนย้ายสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้ การเลือกบรรจุภัณฑ์ขนส่งตัวอย่าง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก ให้มีขนาดที่เหมาะสมสำหรับบรรจุสินค้าได้หลายขนาด จะช่วยลดจำนวนบรรจุภัณฑ์ขนส่ง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและการกองเก็บบรรจุภัณฑ์การขนย้ายบรรจุภัณฑ์
        การขนย้ายจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพได้ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดมาตรฐาน การรวมหน่วยบรรจุภัณฑ์ และการใช้แท่นรองรับสินค้า มาตรฐานนานาชาติ (ISO 3394) ได้ระบุมิติภายนอกของบรรจุภัณฑ์ขนส่งเป็นขนาด 600 x 400 มม. หรือเรียกว่า "รูปแบบพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์" ขนาดของบรรจุภัณฑ์นี้จะพอดีสำหรับการวางเรียงซ้อนบนแท่นรองรับสินค้ามาตรฐานของ ISO มิติพื้นฐานดังกล่าว เป็นมิติของบรรจุภัณฑ์ขนส่งหลักที่เป็นมาตรฐานใช้ในตลาดยุโรป มิตินี้จะเชื่อมโยงกับระบบลูกโซ่ การจัดจำหน่ายตั้งแต่ระบบเครื่องจักรขนถ่าย ระบบแท่นรองรับสินค้า ระบบชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เก็ต บรรจุภัณฑ์ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ขายปลีก
        เครื่องหมายต่างๆ บนบรรจุภัณฑ์ช่วยเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้การขนย้ายสะดวก และรวดเร็วขึ้น ภาพของเครื่องหมายจะต้องชัดเจน และระบุเฉพาะเครื่องหมายที่จำเป็นต้องการขนถ่ายหรือขนส่ง ตัวอย่างเช่น เครื่องหมายลูกศรีชี้ให้วางบรรจุภัณฑ์ตั้งขึ้น เครื่องหมายแสดงการห้ามใช้ตะขอเกี่ยวบรรจุภัณฑ์ การใช้เครื่องหมายมากเกินความจำเป็น จะทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ขาดความสนใจต่อเครื่องหมายที่เปรอะเต็มพื้นที่บรรจุภัณฑ์
        สำหรับบรรจุภัณฑ์ขายปลีกที่วางบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ต ควรคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้บริโภคในการหิ้วถือ ขนาดที่เหมาะสม การเปิดและปิดซ้ำ ตลอดจนข้อมูลที่จำเป็นต้องระบุบนบรรจุภัณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมายแต่ละประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฎบนบรรจุภัณฑ์จะต้องถูกต้อง ชัดเจน และอ่านง่ายความสะดุดตาของบรรจุภัณฑ์
        บรรจุภัณฑ์ควรแสดงภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของสินค้า โดยบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ไม่ควรแพงหรือถูกจนเกินไปเมื่อเทียบกับราคาของสินค้า การเลือกใช้สีโลโก้ ชื่อสินค้า และภาพประกอบ ไม่ควรทำลายรสนิยม ความเชื่อในศาสนา หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติของตลาดเป้าหมาย สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคควรได้รับความสนใจเท่าเทียมกัน ทั้งการออกแบบและการวางแผนการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์ในด้านความคุ้มครองและการรองรับสินค้า หิ้วถือสะดวก มองดูสะอาด สวยงาม สะดุดตาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
        ความปลอดภัย สุขอนามัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นข้อกำหนดสำคัญของระบบการหีบห่อที่เหมาะสม ข้อมูลจากข้อกำหนดเหล่านี้จะต้องถูกแปลงไปสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายและคุณภาพ
        ค่าใช้จ่ายของการบรรจุหีบห่อหมายถึง ค่าใช้จ่ายรวมของการบรรจุหีบห่อ ไม่ใช่เฉพาะค่าใช้จ่ายของตัวบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ค่าใช้จ่ายรวมประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านการวางแผนบรรจุภัณฑ์ การจัดหา และการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการขนย้ายบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปฏิบัติงานการบรรจุรวมค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าจัดจำหน่าย รวมทั้งการประกันภัยสินค้าและบรรจุภัณฑ์
        ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมของระบบการหีบห่อที่ถูกต้อง ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุดเสมอไป บางกรณีค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์ที่ต่ำอาจหมายถึง คุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่ด้อยกว่ามาตรฐาน และอาจทำให้กระบวนการบรรจุหีบห่อสะดุดหรือชะงักในระหว่างการปฏิบัติงาน เกิดการแตกหักเสียหาระหว่างการขนส่ง และทั้งหมดนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมของระบบสูงขึ้น ข้อพิจารณาอันดับแรกของการเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ คุณภาพของวัสดุที่มีคุณภาพตรงกับคุณสมบัติในการนำไปใช้งาน สิ่งสำคัญต่อมาคือ ความน่าเชื่อถือของผู้ขายวัสดุบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถส่งมอบวัสดุบรรจุภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ราคาวัสดุไม่เปลี่ยนแปลง
       
        การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของการวางแผนด้านบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยใช้ข้อมูลเชิงวิชาการด้านต่างๆ จะช่วยให้การวางแผนการส่งออกสินค้าและบรรจุภัณฑ์บรรจุตามแผนที่วางไว้และสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต่อไป
        แผนภูมิสมดุลแห่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์
        ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
        ตรงกับเงื่อนไขของสินค้า การผลิต และการลงทุน
        ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตราสินค้า
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี
        การใช้งานสะดวกและสามารถคุ้มครองผลิตภัณฑ์ได้ดี
        ฉลากที่ครบถ้วนทุกรายละเอียด
       
        ข้อมูลจาก : หลักการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวบรวมโดย สักขี แสนสุภา วารสารการบรรจุภัณฑ์ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย
        เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เยาวชน และประชาชนทั่วไป
แหล่งที่มา : วารสารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม