วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข้อเสนอแนะวิธีการทำการตลาดระหว่างประเทศ

  • ข้อเสนอแนะวิธีการทำการตลาดระหว่างประเทศ
1  ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค สภาพของตลาด อำนาจซื้อ ความต้องการของผู้บริโภค ของประเทศนั้นๆ
2  ทำการแบ่งส่วนตลาดแล้ว ทำการเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อทำการตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก
3  ปรับเปลี่ยน ผลิตภัณฑ์ ราคา ร้านค้า การส่งเสริมการตลาด ให้เหมาะสมกับตลาดของประเทศนั้นๆ
4  ควรสร้างให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำแล้วยังทำให้เกิดการโฆษณาธุรกิจไปแบบปากต่อปากอีกด้วย
5  มีการออกแสดงในงานระดับประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและหาลูกค้าด้วย
6  ควรควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพ
7  ควรพิจารณาคัดเลือกผู้ซื้อเฟรนไชส์และควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด
8  จัดทำเวปไซด์ของธุรกิจ เพื่อเป็นโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และข้อมูลต่างๆให้เป็นที่รู้จัก
9  ควรมีการประเมินการดำเนินการของผู้ซื้อเฟรนไชส์ให้อยู่ในกฎระเบียบข้อบังคับ ถ้าผู้ซื้อเฟรนไชส์ไม่ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับที่ตกลงกัน เจ้าของเฟรนไชส์ควรทำการตักเตือนหรือตัดสิทธิอย่างเข้มงวด
10  การทำธุรกิจด้านบริการควรคำนึงเรื่องการบริการที่ต้องตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

SWOT เครื่องประดับไทยส่งออกญี่ปุ่น

        SWOTเครื่องประดับไทย
จุดแข็ง Strengths
  1. ผลิตภัณฑ์สวยงามและประณีตเป็นเอกลักษณ์
  2. การผลิตมีประสิทธิภาพ
  3. ช่างไทยมีทักษะสูงและฝีมือประณีต สามารถผลิตเครื่องประดับที่มีคุณภาพระดับกลางถึงสูงได้ดี
  4. ต้นทุนค่าจ้างแรงานถูก
  5. มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น
  6. ช่างไทยมีชื่อเสียงในการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มมูลค่า
  7. เครื่องประดับของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
จุดอ่อน Weaknesses
  1.  พึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าในสัดส่วนค่อนข้างสูง  เนื่องจากปัจจุบันปริมาณวัตถุดิบในประเทศลดลงมาก
  2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์มีข้อจำกัด เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีเครื่องจักรของตนเอง
  3. ไม่มีตราสินค้าเป็นของตนเอง เนื่องจากเน้นผลิตตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก
  4. อุตสาหกรรมสนับสนุนบางประเภท อาทิ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและตัวเรือนเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ต้นแบบ ไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ
  5. เทคโนโลยีทางการผลิตต่ำ
  6. มีคู่แข่งขันจำนวนมากในตลาด
  7. การผลิตต้องใช้เวลาในการผลิตมาก
  8. ขาดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
โอกาส Opportunities
1.       เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัว ส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับของไทย
2.       มีข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ที่กำหนดให้สินค้าเครื่องประดับไทยได้รับการลดภาษีศุลกากรจากญี่ปุ่นเหลือร้อยละ 0
3.       ญี่ปุ่นมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง
4.       ญี่ปุ่นมีอำนาจซื้อสูง
5.       มีการส่งเสริมจากภาครัฐของไทย
6.       ประชากรของญี่ปุ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูง
7.       ญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าเครื่องประดับ
8.       ตลาดเครื่องประดับในญี่ปุ่นมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
9.       ญี่ปุ่นมีความมั่นคงทางการเมืองสูง
อุปสรรค Threats
1.       ราคาวัตถุดิบที่ค่อนข้างผันผวนและทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเครื่องประดับทองปรับสูงขึ้น
2.       การแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงจากคู่แข่งสำคัญ
3.       ประเทศคู่แข่งขันมีการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
4.       ไทยเสียเปรียบในเรื่องค่าเงิน ค่าเงินของญี่ปุ่นสูงกว่า
5.       ญี่ปุ่นเป็นประเทศชาตินิยม มีความเป็นชาตินิยมสูง
6.       มีกฎระเบียบและข้อกำหนดทางการค้ามาก
7.       การแทรกแซงของรัฐบาลญี่ปุ่น
8.       ประเทศไทยมีการเมืองไม่มั่นคง
9.       การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อนาคตเครื่องประดับไทยในญี่ปุ่น

            ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีอำนาจซื้อสูงสุดติดอันดับสองของโลก และเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีค่อนข้างสูงเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากสิงคโปร์ อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 51 เป็นผู้หญิง ดังนั้นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่นจึงค่อนข้างสดใส
           ในญี่ปุ่นนั้นสินค้ากลุ่มนี้จะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากจะมีราคาถูกกว่าเครื่องประดับที่ผลิตในประเทศเอง เพราะญี่ปุ่นจะต้องนำเข้าวัตถุดิบในการผลิต ทำให้สินค้าที่ผลิตเองนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ญี่ปุ่นจึงเป็นตลาดนำเข้าเครื่องประดับเงิน และทองรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และอันดับแปดของโลกในการนำเข้าเครื่องประดับเทียม โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ก็คือ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน และไทย
           จากการสำรวจในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ไทยสามารถส่งออกเครื่องประดับไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2550 จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สินค้ากลุ่มนี้ในญี่ปุ่นจะมีความเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การที่สินค้าจากไทยมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้นเนื่องมาจากสินค้าไทยเข้าข่ายของดีราคาถูก เมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ อีกทั้งการได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ที่กำหนดให้สินค้าเครื่องประดับไทย เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการลดภาษีศุลกากรจากญี่ปุ่นเหลือร้อยละ 0 รวมทั้งการที่ญี่ปุ่นเปิดตลาดทำให้รู้ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนการส่งออกให้เป็นไปในทางที่ดี
            แต่การส่งออกเครื่องประดับของไทยไปยังญี่ปุ่นก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องของการที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากประเทศคู่แข่ง ที่มีความได้เปรียบทางด้านการตลาด รูปแบบ และเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย อย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรป อีกทั้งผู้ผลิตสินค้าราคาถูกอย่างจีนและอินเดีย ที่มีการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน โดยจะต้องมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งจะต้องมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น สื่อโฆษณาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในญี่ปุ่นก็คือ นิตยสารแฟชั่นต่างๆ อย่างที่รู้กันว่าญี่ปุ่นเป็นเมืองแห่งแฟชั่นอีกแห่งหนึ่ง รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานก็มีพฤติกรรมชอบเลียนแบบ การโฆษณาผ่านนิตยสารแฟชั่นจึงเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หากมีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายได้ก็จะเป็นการดี ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และทางโทรศัพท์ ( M-Commerce ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นก็จะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการขนาดเล็กของไทยที่มีเงินทุนไม่มากนัก
             อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดเครื่องประดับของไทยในญี่ปุ่นจะเริ่มมีการแข่งขันกันสูง แต่ด้วยฝีมือ และความคิดในการพัฒนาสินค้าของคนไทย รวมทั้งการรู้จักใช้เครื่องมือทางการตลาดที่เหมาะสม อีกทั้งความเข้าใจในความต้องการและพฤติกรรมในการบริโภคของสาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง อนาคตของเครื่องประดับไทยก็ยังไปได้ไกลในญี่ปุ่น

แหล่งที่มา http://ethaitrade.com/2008/export-watch/japan-watch/thai-jewelry-in-japan-market/

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ข้อมูลประเทศญี่ปุ่น

            การส่งออก/นำเข้าของญี่ปุ่น
กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดการเกินส่งออกเดือน ม..เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนแล้ว โดยส่งออกไปยังเอเซียและจีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 68.1 และ 79.9 ตามลำดับ การส่งออกชิ้นส่วน IC และรถยนต์เพิ่มขึ้น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 เนื่อง จากรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การเรียกคืนรถยนต์ของบริษัท โตโยต้าส่งผลกระทบต่อการส่งออกญี่ปุ่นอย่างมากต่อไป ขณะที่ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน เนื่องจากการ นำเข้านํ้ามันดิบและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น แสดงถึงการกระเตื้องขึ้นของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสินค้าขั้นกลางสำหรับ ใช้ในการผลิต
แหล่งที่มา http://www.depthai.go.th/DEP/DOC/53/53001439.pdf

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

                ความหมายของการค้าระหว่างประเทศ
การค้าระหว่าง ประเทศ หมายถึง การซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศต่างๆ ประเทศที่ทำการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน เรียกว่า "ประเทศคู่ค้า" สินค้าที่แต่ละประเทศซื้อเรียกว่า "สินค้าเข้า" (imports) และสินค้าที่แต่ละประเทศขายไปเรียกว่า "สินค้าออก" (exports) ประเทศที่ซื้อสินค้าจากต่าง ประเทศ เรียกว่า "ประเทศผู้นำเข้า" ส่วนประเทศที่ขายสินค้าให้ต่าง ประเทศ เรียกว่า "ประเทศผู้ส่งสินค้าออก" โดยทั่วไปแล้ว แต่ละประเทศจะมีฐานะเป็นทั้งประเทศ ผู้นำสินค้าเข้า และ ประเทศผู้สินค้าออกในเวลาเดียวกัน เพราะประเทศต่างๆ มีการผลิตสินค้า แตกต่างกัน               
  แหล่งที่มา http://megaclever.blogspot.com/2008/07/blog-post_8307.html
ความหมายของการค้าระหว่างประเทศ
 การตลาดระหว่างประเทศ คือ การทำธุรกิจค้าขายอันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและนำเสนอคุณค่าที่อยู่ในรูป ของสินค้าและบริการให้กับลูกค้าข้ามพรมแดนทางรัฐศาสตร์จากประเทศหนึ่งสู่ ตลาดระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการหาตลาดใหม่ เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดหรือเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อยู่ใน ตลาดระหว่างประเทศ โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือ ธุรกิจต้องการรายได้ที่เป็นเงินจากลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศ   

แหล่งที่มา www1.webng.com/logisticseminar/.../International_Marketing.doc
 
     ความแตกต่างของการตลาดระหว่างปรเทศกับการค้าระหว่างประเทศ
การตลาดระหว่างปรเทศเป็นกระบวนการที่ทำเพื่อให้เกิดการซื้อขายโดยใช้การตลาด เป็นกระบวนการเพื่อสนองตอบความพึงพอใจของตลาด เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนโดยการพัฒนาตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกันและเกิดการซื้อขายในที่สุด
ขณะที่การค้าระหว่างประเทศนั้นมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นแล้ว ใช้สินค้าและบริการในซื้อขาย ต้องเน้นคุณภาพของสินค้า มีการแลกเปลี่ยนสินค้าเนื่องจากมีความต้องการสินค้าในระดับที่แตกต่าง มีผู้ซื้อและผู้ขาย

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าสินค้า Packaging Design


บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม

หนึ่งกลยุทธ์ที่มีความสำคัญยิ่ง ที่นักธุรกิจยุคใหม่ควรให้ความสำคัญในการแข่งขันบนโลกการค้าอันดุเดือดนี้ คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์หลายรายประสบความสำเร็จในการแข่งขันทางธุรกิจ
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นกระบวนการเกี่ยวกับการออกแบบ เพื่อให้บรรจุภัณฑ์สินค้าฉีกแนวจากสินค้าคู่แข่ง ซึ่งจะสร้างความสะดุดตาประทับใจในความแตกต่างกันของสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาดอย่างสิ้นเชิง เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทำให้วิธีการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป ธุรกิจเริ่มมองเห็นความสำคัญของการออกแบบเพราะค้นพบอย่างชัดเจนว่ามีผลต่อยอดขายสินค้าเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะสัมฤทธิ์ผลตามต้องการได้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปด้วย คือการรักษาคุณภาพสินค้าให้ดีอย่างต่อเนื่อง
        เป้าหมายแรก คือ ความต้องการของลูกค้า
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยการออกแบบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การออกแบบโครงสร้างและการออกแบบกราฟฟิก โดยที่การออกแบบโครงสร้างจะเน้นคุณสมบัติของวัสดุที่ทำบรรจุภัณฑ์ ส่วนการออกแบบกราฟฟิคจะสื่อความหมายด้วยภาพวาดสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการขาย การออกแบบทั้งสองส่วนจะเกื้อหนุนไปในทางเดียวกันเพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสินค้านั้นๆ บางครั้งเราจะพบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะดุดตาบนชั้นวางขาย แต่สภาพเสียหายเนื่องจากบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไม่คำนึงถึงการออกแบบโครงสร้าง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสินค้าด้อยลงไป
        ในทางกลับกัน สินค้าและบรรจุภัณฑ์บางชนิดมีสภาพดีแต่ผู้ซื้อไม่สนใจหยิบชม เนื่องจากขาดสีสันและข้อมูลที่ผู้ซื้อสนใจ ดังนั้นการออกแบบทั้งทางด้านโครงสร้างและกราฟฟิคจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าของสินค้า และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านความคุ้มครองและส่งเสริมการขายจะต้องให้ความสำคัญในการรวบรวมข้อมูลความต้องการของลูกค้าหรือตลาดเป้าหมายเป็นลำดับแรกการเลือกตลาดเป้าหมาย
        ก่อนที่สินค้าจะถูกปล่อยเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย ผู้ผลิตควรศึกษาและวิเคราะห์โอกาสที่สินค้าจะสามารถขายได้ในตลาด โดยจะต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนและได้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเลือกพิจารราตลาดเป้าหมายจะต้องพิจารณาร่วมกับนโยบายด้านการค้าและการเมือง ประเพณี ภาษา สิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการขนส่ง และระยะทางการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่ตลาดเป้าหมาย หากงบประมาณด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขายมีจำกัด ควรเลือกตลาดเป้าหมายที่มีการแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก
        การคัดเลือกตลาดเป้าหมายจำเป็นต้องศึกษาผลิตภัณฑ์ร่วมไปกับการแข่งขันด้านการตลาดโดยที่บรรจุภัณฑ์จะเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องศึกษาร่วมไปกับผลิตภัณฑ์ด้วย ในการวิเคราะห์กฎเกณฑ์ด้านการบรรจุภัณฑ์ของตลาด ผู้ศึกษาจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลต่างๆ ด้านการค้า ประชากร ราคา ความต้องการของผู้บริโภค และกฎระเบียบต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เมื่อข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตลาด ได้ถูกรวบรวมจนครบ เราจะสามารถกำหนดการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของเราในตลาดได้การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์
        ในการวางตำแหน่งของสินค้าในตลาดจำเป็นจะต้องทราบว่า ใครเป็นผู้ขาย ขายอะไร ขายให้ใคร ผู้ผลิตต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ว่าต้องการให้ผู้บริโภคมองเห็นผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่สัมพันธ์อย่างไรกับบริษัทและผลิตภัณฑ์อื่นหรือตราอื่นๆ ของบริษัท รวมทั้งผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมดที่อยู่ในตลาดที่สนองความต้องการเดียวกัน
        การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์นอกจากจะตอบคำถามเพื่อการออกแบบด้านบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังต้องตอบคำถามให้ครอบคลุมถึงงานด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการขายได้อีกด้วย หากเราตั้งสมมติฐานในเบื้องต้นว่าตลาดเป้าหมายได้รับการคัดเลือกและได้ศึกษาและกำหนดการวางตำแหน่งของตัวผลิตภัณฑ์ในตลาดแล้วอย่างสมบูรณ์ ลำดับต่อไปเป็นการดำเนินการเลือกวัสดุที่มีโครงสร้างเหมาะสมสำหรับการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเราต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่าบรรจุภัณฑ์ต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง
       
        บรรจุภัณฑ์และวัสดุช่วยบรรจุมีความสำคัญหรือมีหน้าที่พื้นฐานที่เป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ 4 ข้อ โดยหน้าที่พื้นฐาน 3 ข้อแรกจะเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้าง ส่วนหน้าที่สุดท้ายจะโยงไปสู่การออกแบบกราฟฟิก
การบรรจุภัณฑ์ของสินค้าOTOP
        หน้าที่แรก การรองรับ บรรจุภัณฑ์จะต้องรองรับสินค้าที่มีปริมาณและน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณบรรจุสามารถบอกได้โดยปริมาตร น้ำหนัก หรือจำนวนหน่วยของผลิตภัณฑ์ มิติของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมมีความสำคัญทั้งด้านความแข็งแรงและค่าใช้จ่าย กล่าวคือ
        -บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติพอดีกับผลิตภัณฑ์และมีพื้นที่ว่างภายในบรรจุภัณฑ์น้อยที่สุดจะทนทานต่อแรกกดและแรงด้านจากการเคลื่อนย้ายได้ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีช่องว่างภายในมาก โดยที่ตัวผลิตภัณฑ์เองจะช่วยต้านแรงกดต่างๆ ที่กระทำต่อบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ที่มีช่องว่างมากตัวบรรจุภัณฑ์จะรับแรงกดทั้งหมดเพียงลำพัง
        -บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติใหญ่กว่าผลิตภัณฑ์จะสิ้นเปลืองวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ในหลายๆ ประเทศ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จะไม่ยอมรับบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ หลายประเทศมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการทำลายต่ำ จะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัยด้วย
        หน้าที่ประการต่อมาคือ ความคุ้มครองป้องกัน บรรจุภัณฑ์จะต้องคุ้มครองป้องกันสินค้าที่บรรจุอยู่ให้ปลอดภัยจากการเสื่อมสภาพ การแตกหัก ความชื้นหรือบรรยากาศ และการถูกลักขโมย
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องป้องกันสินค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์เกินความจำเป็นคือสิ่งที่ผิดพลาด เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบรรจุภัณฑ์สูงเกินความต้องการ หรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยไปสินค้าอาจเกิดความเสียหายได้ สิ่งที่ควรระลึกถึงคือ บรรจุภัณฑ์ควรมีความแข็งแรงเท่าที่สินค้าต้องการโดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
        หน้าที่ประการที่สาม คือ การเคลื่อนย้าย บรรจุภัณฑ์จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและการขนส่งขนผลิตภัณฑ์ไปถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่สมบูรณ์ สำหรับผู้ส่งออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะถูกเพิ่มเข้าไปในตัวสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
        การเคลื่อนย้ายบรรจุภัณฑ์จะครอบคลุมถึงการเคลื่อนย้ายในการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือกระบวนการเคลื่อนย้ายในการทำลายบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว และบรรจุภัณฑ์ก็ควรถูกออกแบบให้ง่ายต่อการเปิดปิดและการหิ้วถือเคลื่อนย้ายไปตลอดทั้งระบบในตลาดเป้าหมายที่อาจจะใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคน
        หน้าที่ประการสุดท้าย คือการส่งเสริมการขาย บรรจุภัณฑ์จะต้องส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ทั้งในระยะเริ่มต้นและในระยะยาว เมื่อบรรจุภัณฑ์ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมในการรองรับป้องกัน และเคลื่อนย้ายแล้ว ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนขายที่ดีสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ ภาพกราฟฟิคที่มองเห็นจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อการออกแบบกราฟฟิคอยู่บนบรรจุภัณฑ์มีความเหมาะสม ภายใต้หน้าที่ส่งเสริมการขาย บรรจุภัณฑ์ที่ดีจะต้องมีข้อมูลต่างๆ บนฉลากครบถ้วนและถูกต้องตามกฎระเบียบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและตลาดเป้าหมาย บรรจุภัณฑ์จะต้องสะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรกที่วางจำหน่ายและสร้างตราหรือยี่ห้อที่เชื่อถือได้
การบรรจุภัณฑ์ของสินค้าOTOP
       
         การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องพิจารณาถึงกรอบหน้าที่พื้นฐานทั้ง 4 ข้อ โดยขั้นตอนแรกของการออกแบบเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการออกแบบ เพราะในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมและถูกต้องจำเป็นต้องใช้ข้อมูลต่างๆ หลายสาขามาประกอบกันสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี ดังนี้
        -ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ โดยบุคคลที่รับผิดชอบในเรื่องการวางแผนด้านการบรรจุภัณฑ์จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านกายภาพ เคมี และทางกลของตัวผลิตภัณฑ์ โดยควรรู้ว่าผลิตภัณฑ์จะเสื่อมสภาพอย่างไร หรือแตกหักได้ง่าย ผลิตภัณฑ์หลายชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเมื่ออุณหภูมิและความชื้นแปรผัน ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารจะเสื่อมสภาพได้ง่ายเมื่อเกิดปฏิกิริยาเคมี เช่น ออกซิเดชัน ผลิตภัณฑ์บางชนิดจะขึ้นราหรือถูกเชื้อแบคทีเรียแล้วเกิดการเสื่อมสภาพ เป็นต้น ความรู้ด้านการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์จะช่วยให้ผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ พิจารณาเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และแข็งแรงเพียงพอต่อการป้องกันการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์
        ในบางกรณีการหีบห่อผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือขนาดของผลิตภัณฑ์เพื่อให้บรรจุได้พอดี โดยที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือขนาดจะต้องไม่ลดทอนคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ เช่น การหีบห่อเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งต้องแยกชิ้นเฟอร์นิเจอร์ก่อนการบรรจุ แต่เมื่อนำส่วนประกอบมาประกอบกันแล้ว จะต้องได้ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพเหมือนเดิมทุกประการ
        -ข้อมูลด้านการผลิต ที่จำเป็นต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ความเร็ว และปริมาณการผลิตต่อครั้ง วิธีการผลิต ลักษณะการผลิตเป็นแบบอัตโนมัติ หรือแบบใช้แรงงานคน ซึ่งการเลือกใช้เครื่องจักรในการบรรจุจะสัมพันธ์กับความเร็วของการผลิตสินค้า และสอดคล้องกับแผนผังการวางเครื่องจักรภายในโรงงาน
        -ข้อมูลกระบวนการบรรจุ ก่อนการบรรจุสินค้าด้วยเครื่องจักร ผู้ปฏิบัติงานจะต้องตรวจสอบความเหมาะสมของวัสดุที่ใช้ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ และมีขนาดตรงตามข้อกำหนดของเครื่องจักรบรรจุ นอกจากนั้นอาจต้องพิจารณากระบวนการทำงาน ดังนี้
        1.กระบวนการบรรจุด้วยเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ จำเป็นต้องตั้งความตึงของวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ให้มากกว่าการบรรจุแบบใช้แรงงานคน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์มีขนาดที่ถูกต้องต่อเนื่องตลอดการทำงาน
        2.กรณีการบรรจุหีบห่อแบบใช้แรงงานคน การเลือกแบบของบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งชนิดของวัสดุจะต้องสอดคล้องกับความสามารถในการปฏิบัติงานของคนโดยใช้ความเร็วในการบรรจุตามที่ออกแบบไว้
        3.สำหรับกรณีที่ต้องใช้เครื่องจักรบรรจุเดิมที่มีอยู่แล้ว จำเป็นต้องตรวจสอบความสามารถในการบรรจุของเครื่องจักรตลอดจนพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติด้วย
        -ข้อมูลด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์ ผู้เกี่ยวข้องกับการวางแผนด้านบรรจุภัณฑ์ ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของวัสดุบรรจุภัณฑ์หลากหลายชนิด เพื่อเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวผลิตภัณฑ์และกระบวนการบรรจุ ตลอดจนข้อจำกัดของตัววัสดุและบรรจุภัณฑ์ด้วย วัสดุที่ถูกเลือกจำเป็นต้องเหมาะสมกับตลาดเป้าหมายที่อาจต้องพิจารณากฎระเบียบเรื่องการหมุนเวียนใช้วัสดุหรือการทิ้งวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
การบรรจุภัณฑ์ของสินค้าOTOP
        นอกจากนี้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายวัสดุ ความเชื่อถือ ราคาวัสดุ และระยะเวลาการจัดส่งวัสดุ ก็เป็นข้อมูลจำเป็นที่จะกำหนดการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม อย่าลืมว่าคุณภาพของวัสดุต้องมาก่อนราคา วัสดุที่มีราคาถูกที่สุด อาจจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่อบริษัทก็ได้ ในกรณีที่การกองเก็บวัสดุต้องการสภาวะการเก็บที่แตกต่างกันไป และบริษัทไม่สามารถจัดหาสถานที่กองเก็บที่เหมาะสมได้ครบ การจำกัดปริมาณการสั่งซื้อวัสดุจะช่วยให้การบริหารการกองเก็บวัสดุมีประสิทธิภาพมากขึ้น
        -ข้อมูลด้านการขนส่งและการจัดจำหน่าย การขนส่งสินค้าทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ แต่ละแบบมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงต่างกัน ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์ย่อยๆ รวมหน่วยกันจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่บรรจุภัณฑ์รวมหน่วย เพื่อคุ้มครองสินค้าไปตลอดเส้นทางการขนส่ง ผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ควรจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายและการขนส่ง จำนวนครั้งของการขนถ่ายบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการลำเลียงบรรจุภัณฑ์ไปตลอดการขนส่ง การใช้อุปกรณ์เครื่องจักรกลในการขนถ่ายสินค้า จุดขนถ่าย จำเป็นต้องให้บรรจุภัณฑ์ขนส่งย่อยรวมกันเป็นหน่วยใหญ่ 1 หน่วยบนแท่นรองรับสินค้า และใช้อุปกรณ์ทางกลเป็นเครื่องขนย้าย ดังนั้นการพิจารณาเลือกวิธีการขนส่งจึงต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มเมื่อเทียบกับการขนย้ายด้วยแรงงานคน
        การเลือกขนาดของแท่นรองรับสินค้าในการขนย้าย ควรมีขนาดพอเหมาะกับรูปแบบการขนส่งและเครื่องจักรที่ใช้ในการขนย้าย ตลาดเป้าหมายที่อยู่ปลายทางการขนส่ง
        รูปแบบการขนส่งแต่ละแบบจำเป็นต้องมีเครื่องหมายสากลแสดงข้อกำหนดของการขนย้ายและขนส่ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง และระมัดระวังเป็นพิเศษในระหว่างการขนย้าย สำหรับกลุ่มสินค้าผักและผลไม้ สินค้าที่เน่าเปื่อยได้ และสินค้าอันตราย จำเป็นต้องมีเครื่องหมายพิเศษที่เป็นสากลระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยในการขนย้ายและขนส่งได้อย่างถูกวิธี ตลอดจนผู้นำเข้าบางคนอาจต้องการเครื่องหมายหรือข้อมูลบางอย่างอยู่บนบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือในการแยกแยะบรรจุภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการขนส่งไปจัดจำหน่ายต่อไป
        -ข้อมูลเรื่องกฎระเบียบ ผู้ออกแบบและวางแผนบรรจุภัณฑ์ ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบของตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุข้อกำหนดการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ การปนเปื้อนบนบรรจุภัณฑ์ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนฉลากบรรจุภัณฑ์ ตลาดเป้าหมายแต่ละประเทศ หรือกลุ่มประเทศมีข้อกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จะต้องศึกษาและรวบรวมไว้ให้มากที่สุด เพื่อใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ ดังกล่าว
        -ข้อมูลของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย ผู้บริโภคในตลาดมีทัศนคติที่แตกต่างกันในเรื่องของรูปร่าง จำนวน สีสัน และสัญลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ที่สามารถทำหน้าที่แทนผู้ขายได้อย่างสมบูรณ์สำหรับสินค้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้พิจารณาความแตกต่างของวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งประเทศต่างๆ จะออกแบบสื่อความหมายของรูปร่าง สีสัน และสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความเชื่อ และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

         -ข้อมูลบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและสิ่งแวดล้อมจะมีความซับซ้อนและวัดค่าผลกระทบได้ยาก การตลาดที่อิงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับออกมาในรูปแบบฉลากเขียว (Eco-labels) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์และชื่อเสียงของสินค้าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
       
        การใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยดึงดูดความสนใจและแสดงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ได้ขยายตัวมากขึ้นในประเทศต่างๆ แต่ละประเทศก็จะมีแนวคิดและระบบดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานระดับนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายๆ ประเทศได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการตลาดกับสิ่งแวดล้อม โดยเผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นกฎระเบียบข้อแนะนำ และฉลากสิ่งแวดล้อมมากกว่า 20 แบบ กระจายไปทั่วโลก
        ข้อมูลการวิเคราะห์และตรวจสอบวงจรชีวิต เป็นการวิเคราะห์และตรวจสอบวงจรชีวิต ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของกระบวนการต่างๆ ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ โดยศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบไปจนถึงระยะสิ้นสุดของการใช้บรรจุภัณฑ์ การตรวจวัดและประเมินรูปแบบของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์จะถูกวัดค่าและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดระยะทางตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
        การวางแผนเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์
       
 เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดจากการทำวิจัยเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในขั้นตอนต่อไปได้แก่
        -วัสดุบรรจุภัณฑ์ วัสดุเดี่ยวหรือวัสดุผสมที่ถูกคัดเลือกใช้ทำบรรจุภัณฑ์ควรมีความสามารถในการป้องกันสินค้าจากการเสื่อมสภาพหรือความเสียหายต่างๆ ได้ ผู้ออกแบบควรให้ความสนใจรอยเชื่อมและการปิดผนึกของบรรจุภัณฑ์เป็นพิเศษ เพราะถึงแม้จะเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติดีที่สุดมาออกแบบทำเป็นบรรจุภัณฑ์ แต่หากบรรจุภัณฑ์นั้นมีรอยรั่วหรือปิดผนึกไม่เหมาะสม บรรจุภัณฑ์นั้นก็ไม่สามารถป้องกันสินค้าจากความเสียหายได้
        -การออกแบบโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์และวัสดุ ช่วยบรรจุต้องคำนึงถึงคุณสมบัติในการป้องกันการแตกหักเสียหายของสินค้าตลอดระยะทางการขนส่งทั้งระบบ ผู้ออกแบบจำเป็นต้องรู้ข้อมูลว่าสินค้าควรจะขนย้ายในลักษณะใด และสินค้าจะได้รับแรงบีบหรือแรงกดดันอย่างไรตลอดเส้นทางการขนส่ง การใช้เครื่องหมายสากลพิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์ขนส่งจะช่วยให้การขนย้ายสินค้ากระทำอย่างถูกต้อง และลดโอกาสการลักขโมยระหว่างการขนย้าย โดยข้อมูลที่ปรากฎอาจอยู่ในรูปของรหัสสินค้าซึ่งตรงกับรหัสสินค้าในเอกสารการขนส่งเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกขโมย ตัวอย่างสินค้าที่ควรระมัดระวังได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และของมีค่าชิ้นเล็กๆ และสิ่งทอ เป็นต้น
        เครื่องหมายและข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เช่น น้ำหนัก ตลาดปลายทาง ควรพิมพ์ให้ชัดเจนและตัวอักษรถูกต้อง นอกจากนี้ เครื่องหมายและตัวอักษรไม่ควรลบเลือนง่ายเมื่อถูกความชื้นหรือเปื้อนคราบสกปรกต่างๆ ระหว่างการขนส่ง การขนส่งด้วยวิธีรวมหน่วยโดยใช้แท่นรองรับสินค้าหรือตู้คอนเทรนเนอร์ จะช่วยป้องกันความเสียหายและการลักขโมยได้
        -มิติ (ขนาด) ของบรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับตัวสินค้า โดยใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพมีของเสียน้อยที่สุด และใช้พื้นที่ในการวางเรียงซ้อนในตู้คอนเทรนเนอร์อย่างเต็มที่ กล่าวคือ บรรจุภัณฑ์ขายปลีก ควรมีขนาดพอดีกับบรรจุภัณฑ์ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ขนส่งสามารถวางเรียงซ้อนบนแท่นรองรับสินค้าได้เต็มพื้นที่
        การออกแบบต้องยึดมาตรฐานขนาดแท่นรองรับสินค้าของตลาดเป้าหมายเป็นข้อกำหนดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่งและบรรจุภัณฑ์ขายปลีก ซึ่งขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับขนาดของแท่นรองรับสินค้าจะช่วยให้การขนย้ายสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้ การเลือกบรรจุภัณฑ์ขนส่งตัวอย่าง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก ให้มีขนาดที่เหมาะสมสำหรับบรรจุสินค้าได้หลายขนาด จะช่วยลดจำนวนบรรจุภัณฑ์ขนส่ง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและการกองเก็บบรรจุภัณฑ์การขนย้ายบรรจุภัณฑ์
        การขนย้ายจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพได้ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดมาตรฐาน การรวมหน่วยบรรจุภัณฑ์ และการใช้แท่นรองรับสินค้า มาตรฐานนานาชาติ (ISO 3394) ได้ระบุมิติภายนอกของบรรจุภัณฑ์ขนส่งเป็นขนาด 600 x 400 มม. หรือเรียกว่า "รูปแบบพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์" ขนาดของบรรจุภัณฑ์นี้จะพอดีสำหรับการวางเรียงซ้อนบนแท่นรองรับสินค้ามาตรฐานของ ISO มิติพื้นฐานดังกล่าว เป็นมิติของบรรจุภัณฑ์ขนส่งหลักที่เป็นมาตรฐานใช้ในตลาดยุโรป มิตินี้จะเชื่อมโยงกับระบบลูกโซ่ การจัดจำหน่ายตั้งแต่ระบบเครื่องจักรขนถ่าย ระบบแท่นรองรับสินค้า ระบบชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เก็ต บรรจุภัณฑ์ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ขายปลีก
        เครื่องหมายต่างๆ บนบรรจุภัณฑ์ช่วยเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้การขนย้ายสะดวก และรวดเร็วขึ้น ภาพของเครื่องหมายจะต้องชัดเจน และระบุเฉพาะเครื่องหมายที่จำเป็นต้องการขนถ่ายหรือขนส่ง ตัวอย่างเช่น เครื่องหมายลูกศรีชี้ให้วางบรรจุภัณฑ์ตั้งขึ้น เครื่องหมายแสดงการห้ามใช้ตะขอเกี่ยวบรรจุภัณฑ์ การใช้เครื่องหมายมากเกินความจำเป็น จะทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ขาดความสนใจต่อเครื่องหมายที่เปรอะเต็มพื้นที่บรรจุภัณฑ์
        สำหรับบรรจุภัณฑ์ขายปลีกที่วางบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ต ควรคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้บริโภคในการหิ้วถือ ขนาดที่เหมาะสม การเปิดและปิดซ้ำ ตลอดจนข้อมูลที่จำเป็นต้องระบุบนบรรจุภัณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมายแต่ละประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฎบนบรรจุภัณฑ์จะต้องถูกต้อง ชัดเจน และอ่านง่ายความสะดุดตาของบรรจุภัณฑ์
        บรรจุภัณฑ์ควรแสดงภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของสินค้า โดยบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ไม่ควรแพงหรือถูกจนเกินไปเมื่อเทียบกับราคาของสินค้า การเลือกใช้สีโลโก้ ชื่อสินค้า และภาพประกอบ ไม่ควรทำลายรสนิยม ความเชื่อในศาสนา หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติของตลาดเป้าหมาย สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคควรได้รับความสนใจเท่าเทียมกัน ทั้งการออกแบบและการวางแผนการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์ในด้านความคุ้มครองและการรองรับสินค้า หิ้วถือสะดวก มองดูสะอาด สวยงาม สะดุดตาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
        ความปลอดภัย สุขอนามัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นข้อกำหนดสำคัญของระบบการหีบห่อที่เหมาะสม ข้อมูลจากข้อกำหนดเหล่านี้จะต้องถูกแปลงไปสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายและคุณภาพ
        ค่าใช้จ่ายของการบรรจุหีบห่อหมายถึง ค่าใช้จ่ายรวมของการบรรจุหีบห่อ ไม่ใช่เฉพาะค่าใช้จ่ายของตัวบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ค่าใช้จ่ายรวมประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านการวางแผนบรรจุภัณฑ์ การจัดหา และการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการขนย้ายบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปฏิบัติงานการบรรจุรวมค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าจัดจำหน่าย รวมทั้งการประกันภัยสินค้าและบรรจุภัณฑ์
        ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมของระบบการหีบห่อที่ถูกต้อง ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุดเสมอไป บางกรณีค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์ที่ต่ำอาจหมายถึง คุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่ด้อยกว่ามาตรฐาน และอาจทำให้กระบวนการบรรจุหีบห่อสะดุดหรือชะงักในระหว่างการปฏิบัติงาน เกิดการแตกหักเสียหาระหว่างการขนส่ง และทั้งหมดนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมของระบบสูงขึ้น ข้อพิจารณาอันดับแรกของการเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ คุณภาพของวัสดุที่มีคุณภาพตรงกับคุณสมบัติในการนำไปใช้งาน สิ่งสำคัญต่อมาคือ ความน่าเชื่อถือของผู้ขายวัสดุบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถส่งมอบวัสดุบรรจุภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ราคาวัสดุไม่เปลี่ยนแปลง
       
        การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของการวางแผนด้านบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยใช้ข้อมูลเชิงวิชาการด้านต่างๆ จะช่วยให้การวางแผนการส่งออกสินค้าและบรรจุภัณฑ์บรรจุตามแผนที่วางไว้และสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต่อไป
        แผนภูมิสมดุลแห่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์
        ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
        ตรงกับเงื่อนไขของสินค้า การผลิต และการลงทุน
        ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตราสินค้า
        การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี
        การใช้งานสะดวกและสามารถคุ้มครองผลิตภัณฑ์ได้ดี
        ฉลากที่ครบถ้วนทุกรายละเอียด
       
        ข้อมูลจาก : หลักการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวบรวมโดย สักขี แสนสุภา วารสารการบรรจุภัณฑ์ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย
        เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เยาวชน และประชาชนทั่วไป
แหล่งที่มา : วารสารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม